รากฟันเทียม (Dental Implant)
รากฟันเทียมคืออะไร
รากฟันเทียม หรือ Dental Implant เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูญเสียฟัน จากที่สมัยก่อน ทางเลือกมีเพียงแค่การทำฟันปลอม และสะพานฟันเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ รากฟันเทียม เป็นทางเลือกที่กำลังเข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยรากฟันเทียมนั้น เป็นการผ่าตัดฝังวัสดุ ที่มีรูปร่างเหมือนกับรากฟันลงไปในกระดูกขากรรไกร เพื่อให้เป็นที่ยึดเกาะของฟันปลอมแบบติดแน่นถาวร ที่จะนำมาใส่แทนที่ฟันที่สูญเสียไป
รากฟันเทียมดีอย่างไร
ข้อดีของการทำรากฟันเทียม มีอยู่หลายอย่าง ดังนี้
- ทำให้ผู้ที่ต้องสูญเสียฟัน ดูดีขึ้น ฟันดูเป็นธรรมชาติ เพราะเป็นการยึดติดกับกระดูกขากรรไกร เป็นการรักษาแบบติดแน่นถาวร
- ช่วยให้การพูดเป็นธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากการใช้ฟันปลอม มักจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการพูด แต่รากเทียมจะไม่ก่อให้เกิดปัญหานี้ ผู้ทำรากเทียม จะไม่ต้องกังวลว่าฟันหรือวัสดุที่ใส่ไว้ จะเลื่อนหรือหลุดออกจากตำแหน่ง
- รากเทียม เป็นส่วนหนึ่งในร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ ไม่ต้องถอดเข้าถอดออก เหมือนกับฟันปลอม
- รับประทานอาหารได้ง่าย ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเคียวของเหนียว เพราะรากเทียม ได้รับการออกแบบให้ใช้งานได้เหมือนกับฟันจริง
- ทำให้ผู้ใช้ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น สามารถยิ้ม และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยความมั่นใจ
- ทำให้สุขภาพปากโดยรวมดีขึ้น ทำความสะอาดได้ง่าย
- มีความทนทาน หากดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็สามารถใช้งานได้หลายปี คนไข้หลาย ๆ ราย สามารถใช้ได้จนตลอดอายุขัย
- ใช้สะดวก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ถอดออกเองไม่ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องถอดออกมาล้างเหมือนกับฟันปลอม
รากฟันเทียมสามารถใช้กับใครได้บ้าง
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี สุขภาพปากและฟันเป็นปกติดี มีการดูแลรักษา ทำความสะอาดฟันเป็นประจำมาโดยตลอด ก็สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายรากฟันเทียมได้ การทำรากฟันเทียมนั้น เป็นการผ่าตัดในช่องปาก ดังนั้นผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด จึงต้องเป็นผู้ที่มีเหงือกแข็งแรง มีกระดูกขากรรไกรแข็งแรง และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการปลูกถ่าย ซึ่งทันตแพทย์ จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัย ว่าใคร สามารถจะรักษาด้วยวิธีนี้ได้บ้าง
แต่ทั้งนี้ ก็มีคนบางกลุ่ม ที่ไม่เหมาะจะทำรากฟันเทียม ได้แก่ กลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่หนัก ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง รวมทั้งโรคเบาหวาน และโรคหัวใจ หรือคนไข้ที่ต้องเข้ารับการฉายรังสีที่บริเวณศีรษะ และคอ
การทำรากฟันเทียม มีขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
- ขั้นแรก เป็นขั้นของการวางแผนการรักษา ทันตแพทย์ผู้ที่จะผ่าตัดทำรากเทียมให้คนไข้ได้นั้น ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ จะมีการตรวจเช็คโดยละเอียด และให้ข้อแนะนำในการเตรียมตัวเบื้องต้นให้กับคนไข้
- ขั้นของการปลูกถ่ายรากฟัน เป็นการนำวัสดุไททาเนียมชื้นเล็ก ๆ ฝังลงไปในกระดูกขากรรไกร ในบริเวณของซี่ฟันที่สูญเสียไป ซึ่งจะต้องใช้การผ่าตัด เมื่อฝังรากเทียมลงไปแล้ว จะต้องรอให้แผลหาย และรากเทียมยึดเกาะกับขากรรไกรจนแน่น ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 – 12 สัปดาห์
- เมื่อรากเทียมยึดติดดีแล้ว ขั้นต่อไปก็จะเป็นการนำฟันซี่ใหม่ ครอบลงไปบนรากเทียมที่ฝังไว้ ซึ่งฟันซี่ใหม่นั้น จะได้รับการออกแบบ ให้มีสี ขนาดและรูปร่างเหมือนกันฟันธรรมชาติ
เนื่องจากการทำรากเทียมนั้นเป็นการผ่าตัด ทำให้คนไข้หลาย ๆ ราย วิตกกังวลว่าจะเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่จากประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว จะบอกว่า รู้สีกไม่สบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผลที่ได้หลังการรักษานั้น เป็นที่น่าพอใจ
การดูแลช่องปากหลังการทำรากเทียม
หลังจากการทำรากเทียมมาใหม่ ๆ ทันตแพทย์ จะแนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน และจะให้ยาระงับอาการปวดมารับประทานด้วย และเมื่อหายเป็นปกติดีแล้ว ก็สามารถดูแลรักษาตามขั้นตอนปกติ คือ แปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปาก ในการทำความสะอาดประจำวัน และเข้ารับการตรวจเช็คฟัน จากทันตแพทย์ เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง