การผ่าฟันคุด
การผ่าฟันคุด เป็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องทันตกรรมที่เราควรศึกษาหาความรู้ เพราะปัญหาเรื่องฟันคุดอาจจะเกิดขึ้นกับเรา จะได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ฟันคุดคืออะไร
ฟันคุด คือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นพ้นจากเหงือกขึ้นมาตามปกติเหมือนฟันซี่อื่นๆ โดยที่ฟันซี่นั้นอาจฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือกตรงบริเวณกระดูกขากรรไกร หรือ ฟันนั้นพยายามขึ้นมาแต่มีกระดูกหรือเหงือกมาขวาง ทำให้ฟันเอียง เรามักพบฟันคุดในตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุด
ประเภทของฟันคุด
ฟันคุดมี 2 ประเภท คือ
- ฟันคุดที่ไม่ขึ้นมาแบบปกติ แต่สามารถพ้นจากเหงือกขึ้นมาได้บ้าง แต่มีสภาพไม่ปกติ อาจเอียง ตะแคง
- ฟันคุดที่มองไม่เห็น เพราะอยู่ใต้เหงือกที่ปกปิดไว้
ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุด คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
เนื่องจากฟันคุดทั้งสองประเภทมีลักษณะแตกต่างกัน วิธีแก้ไขจึงต่างกัน ดังนี้
- ถอนฟันคุด คือ การถอนฟันออก สำหรับฟันคุดชนิดที่ขึ้นพ้นเหงือก แต่วางตัวผิดปกติเพราะถูกกระดูกหรือเหงือกขวางไว้ สาเหตุที่ต้องถอน เพราะว่า การขึ้นที่ผิดปกติ ทำให้ทำความสะอาดฟันได้ยาก เศษอาหารเข้าไปติดตามซอก โอกาสที่จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีก หมอจึงแนะนำให้ถอน ซึ่งการถอนฟันคุด จะไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอื่นใด
- ผ่าฟันคุด คือ การผ่าตัดเพื่อเอาฟันคุดแบบที่อยู่ใต้เหงือกออก สาเหตุที่ต้องถอนเพราะว่า ฟันคุดประเภทนี้ จะไม่ขึ้นพ้นจากเหงือกขึ้นมาเอง และจะก่อปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทำให้เจ็บปวด ดันแนวฟันข้างเคียงให้ล้ม เสียหาย มีอาการอักเสบ เป็นหนอง มีแต่ผลเสีย ถ้าแก้ไขโดยการผ่าฟันคุดได้เร็ว ก็ไม่ต้องไปแก้ปัญหาที่จะตามมาอีกมาก
สาเหตุของการเกิดฟันคุด
สาเหตุของการเกิดฟันคุดนั้น อนุมานจากสภาพฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ หรือต้องพยายามที่จะเบียดขึ้นมา แต่เบียดขึ้นมาไม่ได้ว่า ฟันคุดนั้นอาจเกิดเพราะ ขนาดของขากรรไกรเล็กไม่สัมพันธ์กับขนาดของฟัน เพราะหากมีขนาดขากรรไกรที่ใหญ่พอ ฟันสามารถขึ้นมาได้เป็นปกติ ก็จะไม่เกิดฟันคุด
ทำไมต้องผ่าฟันคุด เก็บไว้ได้หรือไม่
ถ้าพบว่ามีฟันคุด โดยเฉพาะประเภทที่ถูกเหงือกปกคลุมไว้ หรืออยู่ลึกใต้ขากรรไกร หากเก็บไว้ ไม่ผ่าตัด ก็จะพบกับปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ตั้งแต่อาการปวด เพราะฟันคุดนั้นจะพยายามแทรกขึ้นมาแม้ว่าจะแทรกไม่ได้ ถ้ามีอาการบวม อักเสบ อาจเป็นหนอง บางคนมีอาการมากกว่านั้น อาจถึงขนาดอ้าปากไม่ขึ้น
แต่ถ้าเมื่อไปพบทันตแพทย์ตรวจพบแต่เนิ่นๆ และตกลงใจผ่าฟันคุดออก เพียงใช้เวลา 4-5 วัน ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดจากฟันคุดนั้นๆ
แม้แต่ฟันคุดประเภทที่แทรกขึ้นมาได้ แต่มีการเอียง ตะแคง ส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น แม้ว่าไม่ต้องผ่าเอาออก แต่ก็ต้องถอนออก ไม่ควรเก็บไว้เช่นกัน
ข้อควรรู้ และการเตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ทำความสะอาดปากและฟันให้เรียบร้อย
- หยุดยาบางชนิดตามคำแนะนำของทันตแพทย์และอย่าลืมแจ้งเรื่องการแพ้ยาให้ทันตแพทย์ทราบ
ขั้นตอนการผ่าฟันคุด
- เอ็กซเรย์เพื่อตรวจเช็คตำแหน่งและลักษณะของฟันคุด
- ฉีดยาชาและรอให้ยาชาออกฤทธิ์
- ทันตแพทย์เริ่มผ่าตามสภาพของฟันคุด เช่น ผ่าตัดเหงือกที่คลุมฟันคุดอยู่ออก แล้วกรอกระดูกที่คลุมฟัน (ถ้ามี) จากนั้นจึงถอนฟันคุดออกมา
- เมื่อถอนฟันคุดออกมาแล้ว จะล้างแผลให้สะอาดก่อนเย็บปิดปากแผล เสร็จแล้วจะให้คนไข้กัดผ้าก๊อซเพื่อให้เลือดหยุดไหล อีกประมาณ 1 ชั่วโมง
การดูแลรักษาและคำแนะนำหลังผ่าฟันคุด
หลังจากกัดผ้าก๊อซให้เลือดหยุดไหลประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว ก็ทิ้งผ้าก๊อซได้ ขั้นตอนต่อไปคือการดูแลแผลให้หายเร็วๆ โดยที่
- ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็นก็ได้ เพื่อลดอาการบวม เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
- แปรงฟันและบ้วนปากเบาๆ ได้
- ห้ามดูดแผล แคะแผลที่ยังไม่หายสนิท
- งดอาหารรสจัด
- ห้ามออกกำลังกายหักโหมในช่วงที่แผลยังไม่หาย
- รับประทานยาตามทันตแพทย์สั่ง
- ไปตามนัดของทันตแพทย์เพื่อตัดไหมจากการผ่าตัด
คำถามที่พบบ่อยของการผ่าฟันคุด
- ไม่ผ่าฟันคุดได้ไหม
ถ้าฟันคุดของคุณเป็นชนิดอยู่ใต้เหงือก มองไม่เห็น แล้วคุณไม่ผ่าเอาออก คุณจะต้องทนกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดตามมา ทั้งความเจ็บปวด และอาการแทรกซ้อนอื่น เช่น บวม อักเสบ มีหนอง หรืออาจเป็นหนักกว่านั้นจนทำให้ที่สุดแล้ว ก็ต้องกลับไปผ่าฟันคุดอยู่ดี ดังนั้น รีบไปผ่าตั้งแต่ยังไม่มีอาการอื่นๆ จะดีกว่า
- ผ่าฟันคุดมีอันตรายไหม
การผ่าฟันคุดโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่มีอันตราย และหากจะมีผลข้างเคียงบ้าง ก็อยู่ในภาวะควบคุมได้เป็นปกติ ไม่ต่างจากการผ่าตัดอื่นๆ
- ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังผ่าฟันคุด
– เป็นไข้หลังผ่าตัด
– แผลติดเชื้อ
– กระดูกเบ้าฟันอักเสบ
– เกิดความเสียหายของบริเวณฟันโดยรอบ
สรุปได้ว่า การผ่าฟันคุดมีความจำเป็นต้องทำหลังจากตรวจพบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในภายหลัง ใช้เวลาไม่มากทั้งขณะและหลังผ่าตัด รวมถึงปลอดภัย