คำแนะนำหลังขูดหินปูน

คราบหินปูนหรือหินน้ำลาย เกิดจากแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่เกาะตามผิวฟัน โดยมีจุลินทรีย์ในช่องปากมาเกาะทับถมกันจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของจุลินทรีย์ ซึ่งจุลินทรีย์ที่อยู่ในแผ่นคราบนี้ก็จะใช้น้ำตาลที่เรารับประทานไป มาสร้างกรดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุและสารพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบที่เหงือก สังเกตได้จากเหงือกมีสีแดง บวมและเลือดออกง่าย

เมื่อเราปล่อยแผ่นคราบจุลินทรีย์สะสมรอบฟันเป็นเวลานาน แร่ธาตุในน้ำลายที่อยู่ในช่องปากก็จะจับตัวและตกตะกอนเป็นหินน้ำลายที่เกาะแน่นกับผิวฟัน ซึ่งเราอาจพบทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้เหงือก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา ปัญหาเหล่านี้อาจเลวร้ายและลุกลามไปยังโครงสร้างกระดูกข้างใต้ ทำให้เกิดการสูญเสียฟันและการติดเชื้อในระบบต่างๆ

การที่จะกำจัดคราบหินปูนนี้ ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการแปรงฟันตามปกติ ต้องมาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการขูดหินปูน โดยจะใช้เครื่องมืออัลตราโซนิกขจัดหินปูนที่สะสมออก

คำแนะนำหลัง “การขูดหินปูน” รวมถึงอาการอื่นๆ ที่อาจขึ้นได้
– หลังการขูดหินปูน อาจพบเลือดซึมออกตามขอบเหงือก โดยปกติเลือดจะหยุดไหลไปเองใน 1-2 ชั่วโมง แต่ไม่ควรบ้วนน้ำบ่อย ๆ เพราะอาจจะทำให้เลือดหยุดยากขึ้น
– การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จะช่วยขจัดคราบพลัคและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นคราบหินปูนอีก
– พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีอุณหภูมิร้อนจัดหรือเย็นจัด เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการเสียวฟันมากขึ้น นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แข็ง เช่น ถั่วลิสง น้ำแข็ง และลูกอม เนื่องจากอาจเข้าไปติดอยู่ในซอกฟันและทำให้รู้สึกไม่สบายภายในช่องปากได้
– อาการเสียวฟัน เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ใน 1-2 สัปดาห์แรก หากเสียวฟันมาก ๆ ควรเลือกใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน
– พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหาสัญญาณของโรคฟันผุหรือโรคเหงือกก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาที่ลุกลาม