คำแนะนำหลังเกลารากฟัน

การเกลารากฟัน จะรักษาการอักเสบของเหงือก และ อวัยวะปริทันต์อื่น ๆ เช่น เคลือบรากฟัน
เอ็นยึดปริทันต์ และ กระดูกเบ้าฟัน

เกลารากฟันคืออะไร
คือการกำจัดหินปูน และ คราบจุลินทรีย์ ที่สะสมลึกลงในผิวรากฟันใต้เหงือก เป็นการกำจัดเอาเนื้อเยื่ออักเสบใต้เหงือกออก โดยอันดับแรกทันตแพทย์จะรักษาโดยการขูดหินปูนด้านบน จากนั้นจะใช้เครื่องมือปริทันต์โดยเฉพาะเช่น คิวเรตต์ Curette และ ซิกเกล Sickle เพื่อขูดหินปูนออกและเกลารากฟันใต้เหงือกออกให้หมด

ทำไมต้องเกลารากฟัน
เพราะการเกลารากฟัน เป็นการใช้เครื่องมือทางการแพทย์กำจัดหินปูนที่อยู่ใต้เหงือกที่เราไม่สามารถมองเห็นหินปูนที่อยู่ใต้เหงือกได้ ซึ่งหินปูนใต้เหงือกเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ หากถึงขั้นร้ายแรงจนลุกลามกลายเป็นโรคปริทันต์ได้ ซึ่งความอันตรายนี้สามารถทำให้สูญเสียฟันทีละหลาย ๆ ซี่ได้เลย

ข้อดีของการเกลารากฟัน
• ทำให้สุขภาพเหงือกกลับมาแข็งแรงมากขึ้น เพราะจะทำให้ผิวรากฟันเรียบ ไม่มีคราบหินปูน คราบต่าง ๆ ที่เกาะบนรากฟันอีก
• สุขภาพฟันจะแข็งแรงขึ้น ฟันไม่โยก ทำให้เคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
• ช่วยลดปัญหากลิ่นปาก ลดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก และ ลดเหงือกบวมอักเสบ

ขั้นตอนการเกลารากฟัน

1.ทันตแพทย์จะทำการถ่าย X-ray ฟัน เพื่อทำการประเมินระดับความรุนแรงของการเกิดโรค

2.จากนั้น จะทำความสะอาดช่องปาก และ ฟัน ด้วยการขูดหินปูน กำจัดคราบจุลินทรีย์ บริเวณฟันและขอบเหงือก

3.ขั้นตอนการเกลารากฟันเป็นการรักษาที่ใช้ความละเอียด อาจต้องฉีดยาชา และขูดทีละส่วน หรือ ทีละครึ่งปาก

4.กรณีคนไข้เป็นโรคปริทันต์ชนิดรุนแรง อาจต้องผ่าตัดเปิดเหงือกเพื่อรักษาก่อน แต่ทั้งนี้ทันตแพทย์จะพิจารณาอีกครั้ง

5.เมื่อรักษาการเกลารากฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะนัดติดตามผลการรักษาว่าสุขภาพช่องปากและเหงือกดีขึ้นหรือไม่อย่างไร

ภาพตัวอย่างเคสก่อน-หลังเกลารากฟัน

คำแนะนำหลังเการกลารากฟันอย่างถูกวิธี

1.เมื่อเกลารากฟันเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว คนไข้ควรใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟันเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว และอาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์

2.อาการบวมที่เหงือก และ เลือดออกบ้าง เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงหลังการเกลารากฟัน

3.คนไข้ต้องรักษาความสะอาดช่องปากอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง รวมถึงใช้ไหมขัดฟัน น้ำยาบ้วนปาก เพื่อลดการเกิดคราบหินปูน

4.คนไข้ต้องมาตามที่ทันตแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

5.ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก ๆ 6 เดือน

สรุป หากคนไข้มีหินปูนใต้เหงือกเป็นจำนวนมาก แล้วไม่รักษา ไม่ขูดหินปูน จะก่อให้เกิดปัญหาฟันผุ กลิ่นปาก หินปูนสะสมอยู่ที่รากฟัน จนเป็นโรคเหงือกอักเสบ และ โรคปริทันต์ได้ ดังนั้น ความสำคัญของการขูดหินปูนเป็นเรื่องจำเป็นก่อนที่จะรักษาการเกลารากฟัน ซึ่งจะต้องรักษาโดยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในการรักษาด้วยทุกครั้ง