การถอนฟัน
ทำไมต้องถอนฟัน
การถอนฟันจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทันตแพทย์จะเลือกเป็นสิ่งสุดท้าย หลังจากไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว ในกรณีที่ฟันมีปัญหาต่อไปนี้
- ฟันผุ โดยทั่วไป แพทย์จะเลือกการอุดฟัน แต่ฟันผุบางกรณีที่ผุรุนแรง เพราะปล่อยทิ้งไว้จนเนื้อฟันจะถูกทำลายลึกลงไปยังเนื้อเยื่อจนถึงโพรงประสาทฟัน มีการติดเชื้อ หรือว่าปล่อยไว้จนเหลือแต่ตอของรากฟัน หากรักษาด้วยการ อุดฟัน ครอบฟัน หรือสะพานฟันไม่ได้แล้ว ก็จะต้องถอนฟัน
- ปัญหาโรคเหงือกที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนปล่อยให้มีการลุกลาม ติดเชื้อ ไปจนถึงกระดูกรอบๆรากฟัน ทำให้ฟันโยกขั้นรุนแรง อาจเป็นสาเหตุที่ต้องถอนฟัน
- กระดูกบริเวณปลายรากฟันถูกทำลาย ทำให้ต้องถอนฟัน กรณีนี้ อาจมีจุดเริ่มต้นจากการมีถุงน้ำหรือหนองที่ปลายรากฟันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียลงไปที่โพรงประสาทฟันถึงปลายรากฟันจนทำให้มีหนองที่ปลายรากฟันและปล่อยทิ้งไว้จนลุกลามไปทำลายกระดูกบริเวณปลายรากฟันอย่างรุนแรง
- เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ฟันหักเสียหายมาก จนไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้ เช่น ฟันร้าวไปถึงราก ฟันแตก หรือหักลงไปลึกถึงรากฟัน ก็จำเป็นต้องถอนฟัน
- การถอนฟันคุด ฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ตรงตามปกติ หรือไม่มีคู่สบ ทำให้มีปัญหาระยะยาวต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อการรักษาความสะอาดของช่องปากในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อฟันซี่ข้างเคียง เช่น ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุ เป็นต้น ทันตแพทย์ก็จะพิจารณาถอนฟันคุดออก
- การถอนฟันเพื่อเสริมการจัดฟันให้สวยงาม ทั้งนี้ ในการจัดฟัน ทันตแพทย์จะวางแผนการจัดระเบียบฟัน ซึ่งอาจจำเป็นต้องถอนฟันบางซี่ออก
การเตรียมตัวก่อนถอนฟัน
- ต้องแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว และยาที่ได้ทานเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ทันตแพทย์ได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้กับคนไข้แต่ละบุคคล และทันตแพทย์จะมีคำแนะนำในการเตรียมตัวของคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่แตกต่างกัน เช่น การหยุดยาชั่วคราว หรือกรณีอื่นๆ ที่แพทย์จะต้องระมัดระวังเพื่อ เตรียมวางแผนให้พร้อมก่อนถอนฟัน
- รับประทานอาหารมาให้เรียบร้อยก่อนถอนฟัน และถ้าทานอาหารมาควรรอให้อาหารย่อยก่อนถอนฟัน ไม่ควรทำทันทีหลังทานอาหารเสร็จ เพราะหลังจากถอนฟัน อาจไม่สะดวกที่จะรับประทานอาหารใน เพราะคนไข้ต้องทำการกัดผ้ากอซเพื่อให้เลือดหยุดก่อน
- ทำความสะอาดปาก และฟันให้เรียบร้อย
ขั้นตอนการถอนฟัน
- ทันตแพทย์จะเอ็กซเรย์ฟันซี่ที่จะถอนก่อน เพื่อ ดูลักษณะของรากฟัน และกระดูกรอบๆรากฟันก่อนถอนฟัน
- ฉีดยาชา รอให้ยาชาออกฤทธิ์
- รอให้ยาชาออกฤทธิ์จนคนไข้รู้สึกชาเต็มที่แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มถอนฟัน
- เมื่อถอนฟันเสร็จแล้ว และให้คนไข้กัดผ้ากอชเพื่อให้เลือดหยุดไหล ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- ทันตแพทย์แนะนำข้อควรปฏิบัติ และอาจมีการจ่ายยาเผื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือปวด
การดูแลรักษาและคำแนะนำหลังถอนฟัน
- หลังถอนฟันแล้ว ทันตแพทย์จะให้กัดผ้ากอซเพื่อหยุดเลือดจากแผลถอนฟัน ควรกัดไว้ให้แน่นแต่ไม่แรงเกินไปประมาณ 1 ชั่วโมง
2. ทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ - แม้เลือดหยุดแล้ว ก็ไม่ควรใช้ลิ้นดุนแผล เพราะจะเป็นการกระตุ้นทำให้แผลหายช้าลง
- ไม่กลั้วปาก หรือบ้วนปากแรงๆ หลังถอนฟัน
- เลี่ยงการเคี้ยวด้วยฟันด้านที่มีการถอนฟัน
- รับประทานอาหารอ่อน งดอาหารรสจัด ไปอีก 2-3 วัน
- งดออกกำลังกายหลังถอนฟันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดไม่หยุดไหล ปวดแผลมาก หรืออาการอื่นที่ไม่ควรจะมีเกิดขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
คำถามที่พบบ่อยของการถอนฟัน
- อาการชนิดไหนที่มีการถอนฟันเป็นทางเลือกเดียว
– ถอนฟันน้ำนมที่ยังไม่หลุดแต่มีฟันแท้ขึ้นมาแล้ว เพราะถ้าไม่ถอนฟันน้ำนมจะทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาใหม่ซ้อนเก ต้องจัดฟันในภายหลัง
– อุบัติเหตุที่กระทบฟันจนเสียหายจนแก้ไขด้วยวิธีอื่นไม่ได้
– ฟันคุดที่สร้างปัญหาในการดำรงชีวิต และมีผลกระทบถึงฟันข้างเคียง
– ฟันผุที่ลึกจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันในระดับที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้แล้ว
– ฟันที่จำเป็นต้องถอนเพื่อการจัดฟัน
- ทำไมหลังถอนฟัน จึงห้ามออกกำลังกาย
เพราะเป็นเหตุให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เลือดที่แผลถอนฟันที่ยังหยุดไม่สนิทก็จะทำให้เลือดหยุดไหลช้าลงกว่าปกติ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังถอนฟัน
การถอนฟันโดยปกติ แผลจะหายภายใน 1-2 วัน และไม่มีอาการข้างเคียงอื่นๆ แต่ก็อาจมีบ้างเล็กน้อยที่เกิดกรณีต่อไปนี้
- แผลหายช้ากว่าปกติ เนื่องจากโรคประจำตัวที่คนไข้มี เช่นโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
- การถอนฟันกรามซี่ที่อยู่ใกล้ๆกับโพรงอากาศบริเวณโหนกแก้ม มีโอกาสเสี่ยงที่รากฟันจะทะลุเข้าไปได้
สรุปเรื่องถอนฟัน
ทันตแพทย์จะถอนฟันแท้เมื่อมีเหตุจำเป็น ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไปได้เท่านั้น และถ้ามีโรคประจำตัวหรือทานยาอะไรเป็นประจำ ต้องแจ้งทันตแพทย์ด้วยเสมอ ที่สำคัญคือ ต้องปฏิบัติตัวตามที่ทันตแพทย์แนะนำภายหลังจากการถอนฟัน เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้